รูปแบบการดูแลคนยากลำบากและเปราะบางทางสังคม

by Little Bear @4 มิ.ย. 62 17:25 ( IP : 171...110 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
  • photo  , 1280x720 pixel , 135,169 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 104,613 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 99,577 bytes.

จากสภาพปัญหาการทำงานการดูแลคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมายเป็นไปในลักษณะสงเคราะห์มากกว่าพัฒนาเชิงระบบ ไม่ต่อเนื่อง และแยกส่วนดำเนินการ ยึดนโยบายจากระบบราชการที่มาจากส่วนกลางและ top down เป็นหลัก ประกอบกับมีช่องว่างการเข้าไม่ถึงสิทธิ์ตามลักษณะสังคมใหม่ที่มีการเดินทางเข้าถิ่น เร่ร่อน เส้นแบ่งการทำงานพร่าเลือน ไร้พรมแดน แต่กรอบวิธีคิดภาครัฐยังไม่สามารถปรับตัวตาม

เขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต ๑๒ กำลังพัฒนารูปแบบการดูแลคนยากลำบากและเปราะบางทางสังคม ใน ๒ ลักษณะก็คือ

๑)พัฒนาระบบบริการ ผ่านศูนย์บูรณาการระดับตำบล เน้นการดูแลประชากรที่เข้าถึงสิทธิ์ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบบริการ

จะเรียกชื่ออะไรก็แล้วแต่ แนวทางหลัก คือประสานการทำงานกับกลไกที่มีในตำบล อาทิ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ศูนย์พัฒนาครอบครัว ศูนย์บริการคนพิการ สภาเด็กและเยาวชน ศูนย์ไอทีซี ศูนย์สร้างสุขชุมชน ฯลฯ รวมไปถึงงานกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ งานพัฒนาระบบดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุในวัยพักพิง กลไกระดับตำบลจำเป็นจะต้องปรับตัวโดยใช้ประชากรเป้าหมายรายบุคคลเป็นตัวตั้ง ดำเนินการผ่านแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตที่บูรณาการทุกด้านที่เกี่ยวข้อง

ยกตัวอย่างศูนย์สร้างสุขชุมชนตำบลทับช้าง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา หรือในชื่อเดิมที่เรียกว่าศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพโดยชุมชนตำบลทับช้าง เกิดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลทับช้าง โรงพยาบาลสมเด็จฯ นาทวี คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ(พชอ.)นาทวี กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดสงขลา มูลนิธิชุมชนสงขลา Node flagship สสส.สำนัก ๖ สงขลา ที่ต้องการพัฒนาระบบบริการเชิงรุกนอกสถานที่ในการดูแลคนพิการที่มีจำนวน ๑๓๙ คน ผู้สูงอายุติดเตียง ๕๐ คน คนยากลำบาก๑๒๙ คน(ข้อมูล www.communeinfo.com ณ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒)

โดยมีโครงสร้างการบริการด้านสุขภาพดังนี้

๑.แพทย์แผนไทย ภารกิจ : นวด ประคบ อบสมุนไพร พอกเข่าสมุนไพร ดำเนินการโดย : หมอนวดแผนไทยภายในตำบลทับช้าง

๒.กายภาพบำบัด ภารกิจ : กายภาพบำบัดผู้ป่วยทางระบบประสาท เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต อ่อนแรงครึ่งซีก และผู้ป่วยทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เช่น ปวดเข่า ปวดหลัง ดำเนินการโดย : นักกายภาพ และ จิตอาสา จากคนในชุมชนตำบลทับช้าง

๓.กายอุปกรณ์ ภารกิจ : บริการให้ยืมกายอุปกรณ์เครื่องช่วย เช่น ไม้เท้า ไม้ค้ำยัน รถเข็น เตียง ดำเนินการโดย : เจ้าหน้าที่ อบต.ทับช้าง

ยกตัวอย่างขั้นตอนการรับบริการฟื้นฟูสุขภาพ จะเริ่มด้วยการคัดกรองผู้ป่วยโดยจิตอาสาคัดกรองเบื้องต้น หรือทีม HHC คัดกรองผู้ป่วย/คนพิการจากการลงเยี่ยมบ้าน แล้วมีนักกายภาพบำบัดจากรพ.ลงคัดกรองผู้ป่วยในคลีนิคโรคเรื้อรังในแต่ละ รพ.สต. (รพ.สต.วังไทร/รพ.สต.เกาะจง/รพ.สต.ทับช้าง) ต่อจากนั้นนักกายภาพบำบัด ซักประวัติ/ตรวจร่างกาย/วางแผนการรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพกายภาพบำบัด นัดผู้ป่วยมารักษาต่อเนื่องและประเมินผลการรักษาตามมาตรฐาน กรณีอาการไม่ทุเลาลงและมีภาวะแทรกซ้อนจะนัดคิวเพื่อพบแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่โรงพยาบาล หรือแพทย์พิจารณาเพื่อรักษาที่โรงพยาบาลหรือส่งตัวเพื่อรักษาต่อที่ศูนย์สร้างสุขชุมชน

วิธีการจัดตั้งศูนย์สร้างสุขชุมชน

๑)แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่ดำเนินการอยู่แล้ว

๒)เพิ่มอาสาสมัครด้านกายภาพบำบัด คัดเลือกจากอสม.เชี่ยวชาญ/อสม./อพม./CG หรือจิตอาสาจำนวนไม่น้อยกว่า ๔๐ คน รับคนไข้จากรพ.อำเภอที่ต้องได้รับการฟื้นฟูมาดูแลต่อ หรือดูแลกลุ่มเป้าหมาครอบคลุมทั้งมิติกาย จิต สังคม หรือให้บริการกลุ่มเป้าหมายโดยมีนักกายภาพบำบัดควบคุม มีการจัดสรรงบประมาณในการให้บริการแต่ละครั้งโดยไม่ให้ซ้ำซ้อนกันกับงบอื่น เป็นกรณีรายเดือนผ่านรพ.

๓)กองทุนฟื้นฟูฯสนับสนุนงบประมาณนำร่องศูนย์ละ ๕ แสนบาทในด้านปรับปรุงศูนย์ และจัดซื้อกายอุปกรณ์ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

๔)พัฒนาระบบข้อมูลกลางเพื่อดูแลกลุ่มเป้าหมาย จัดเก็บข้อมูลโดยกลุ่มอาสาสมัคร ๔๐ คนบันทึกข้อมูลพร้อมภาพลงในระบบข้อมูลกลางที่มีมูลนิธิชุมชนสงขลาให้การสนับสนุน ใน www.ข้อมูลชุhttp://xn--b3c4aw.com/(www.communeinfo.com)/Application:iMed@home ประมวลผลข้อมูลให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนงานโครงการรองรับ จัดซื้อกายอุปกรณ์และพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครในการดูแลตามสภาพปัญหา

สภาพปัญหาพื้นฐานของผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ จากการสำรวจข้อมูล กรณีกลุ่มเปราะบางของตำบลทับช้างส่วนใหญ่เพศหญิง จบการศึกษาประถมต้นหรือไร้การศึกษา ส่วนใหญ่มีบ้านเป็นของตนเอง แต่เป็นโสด/หม้่าย ฐานะยากจนแต่ไม่ถึงกับลำบากมาก มีรายได้แต่ไม่เพียงพอสำหรับรายจ่าย มีความเจ็บป่วยในหลายโรครุมเร้า ตกอยู่ในภาวะช่วยตัวเองได้บ้างไม่ได้บ้าง มีไม่น้อยต้องการผู้ดูแล พูดคุย ต้องการความช่วยเหลือด้านการเงิน กายอุปกรณ์ สิ่งของเครื่องใช้ การซ่อมบ้าน การมีสิ่งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในฐานะผู้สูงวัย

กิจกรรมที่ดำเนินการโดยใช้กลไกของศูนย์สร้างสุขชุมชนจึงมีมากกว่าแค่การบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยได้ร่วมบูรณาการกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางดังกล่าว ประกอบด้วยกลุ่มกิจกรรมที่กำลังดำเนินการ ประกอบด้วย การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางในภาพรวมตำบลและแผนดูแลคุณภาพชีวิตรายบุคคล ทำงานแบบบูรณาการโดยประสานภาคีนอกพื้นที่และในพื้นที่จำนวนมากให้สามารถทำงานร่วมกันโดยใช้ care plan รายบุคคลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ จำแนกเป็นยุทธศาสตร์แต่ละด้าน ได้แก่ การบริการสุขภาพ การแก้ปัญหาด้านอาชีพและรายได้ การแก้ปัญหาด้านสิทธิทางสังคม การปรับสภาพแวดล้อม เป็นต้น

โดยใช้แอพพลิเคชั่น iMed@home และ www.communeinfo.com แบบครบวงจร ในการปรับข้อมูลรายบุคคลให้มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตด้านต่างๆเป็นปัจจุบัน ประมวลผลข้อมูลในภาพรวมเพื่อนำมาปรับยุทธศาสตร์การทำงาน และระบบเยี่ยมบ้านในรูปแบบจิตอาสาแบบบุคคลและกลุ่มบูรณาการเพื่อให้สามารถติดตามผล ประเมินผล ลดช่องว่างการให้ความช่วยเหลือที่ซ้ำซ้อนและไม่สามารถวัดผล เสริมด้วยกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ การระดมทุนไม่ว่าจะเป็นเพื่อการศึกษา ของใช้้มือสอง สิ่งของเครื่องใช้ วัสดุสิ้นเปลือง สิ่งอำนวยความสะดวกจากชุมชนและเครือข่่าย การทำธรรมนูญตำบล เป็นต้น

มีภาคีหลักได้แก่ อบต.ทับช้าง กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด(พมจ.) สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) บัณฑิตอาสา สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพ(วพส.มอ.) ศอบต. มูลนิธิชุมชนสงขลา รพ.สมเด็จฯ พชอ.นาทวี รพ.สต. ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ ฯลฯ

ศูนย์สร้างสุขชุมชนจะทำหน้าที่ในการให้บริการกับกลุ่มเป้าหมายระดับบุคคล โดยมีคณะกรรมการคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ และกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดเป็นภาคีหนุนเสริม

๒) ชุมชนไม่ทอดทิ้งกัน

รูปแบบนี้เน้นการทำงานที่ก่อตัวโดยชุมชนนำ ราชการตาม เน้นแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เข้าไม่ถึงสิทธิ์ หรือชุมชนในพื้นที่มีความเข้มแข็งพอที่จะเป็นผู้นำ

ยกตัวอย่างชุมชนแหลมสนอ่อน : ชุมชนเปราะบางดูแลคนเปราะบาง

ปี ๒๕๖๐ กลุ่มออมทรัพย์ชุมชนแหลมสนอ่อนร่วมกับมูลนิธิชุมชนสงขลา/ศูนย์ประสานงานภาคีพัฒนาจังหวัด(ศปจ.) ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมจัดเก็บข้อมูลคนยากลำบากและเปราะบางทางสังคมในพื้นที่อำเภอบ่อยาง จึงเกิดกิจกรรมในการดูแลสมาชิกที่เป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคมมาจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนแหลมสนอ่อน ตำบลบ่อยางอยู่ในทำเลที่เรียกได้ว่าทำเลทองของนครสงขลาที่รอการพัฒนา ผู้บริหารเทศบาลหลายยุคที่ผ่านมาก็พยายามหาโครงการที่จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่ แต่ก็ยังทำไม่ได้ด้วยปัญหาของการใช้กรรมสิทธิ์ที่ดินของชุมชนที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการอยู่อาศัยในพื้นที่มากว่า ๓๐ ปีในฐานะคนอพยพมาอาศัยที่ราชพัสุด กรมธนารักษ์ แต่ไม่ได้ทำสัญญาเช่าให้ถูกต้อง ที่นี่มีประชากรราวๆ ๒๐๐ คน ๘๐ ครัวเรือน ถูกรัฐบาลสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จัดระเบียบชายหาดสมิหลาแล้วก็ให้มาอยู่อาศัยที่นี่ โดยไม่ได้ทำสัญญาให้เป็นกิจลักษณะ สมาชิกเริ่มสร้างบ้านทำร้านอาหารประกอบกิจการของตนมานับสิบปี ไฟฟ้าที่ได้เป็นไฟชั่วคราว น้ำก็เป็นน้ำบาดาลเจาะเองหรือซื้อน้ำทาน เทศบาลนครสงขลาได้ขอเช่าพื้นที่ใช้ประโยชน์มานานพอกันแต่ก็ไม่มีโอกาสได้พัฒนาโครงการใดเป็นรูปธรรม ชุมชนก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ของพื้นที่เพราะไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ เช่าใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง แต่ก็ไม่ใช่ผู้บุกรุก จนกระทั่งล่าสุดก็คือธนารักษ์จะให้ชุมชนเช่าที่ให้ถูกต้อง การเป็นชุมชนเปราะบางทำให้เข้าใจสภาพปัญหาของคนเปราะบางด้วยกัน เมื่อมีโอกาสได้ร่วมกับศปจ.สงขลาเก็บข้อมูลคนยากลำบากและเปราะบางทางสังคมในพื้นที่ตำบลบ่อยาง จึงเป็นที่มาของกิจกรรมที่ได้ร่วมกันดูแลคนยากลำบากฯในชุมชนทั้งในพื้นที่ชุมชนและนอกชุมชน การดำเนินงานดังกล่าวอาศัยภาวะผู้นำของชุมชน ได้แก่ คุณบุณย์บังอร ชนะโชติและคุณนิพนธ์ ชนะโชติ เป็นแกนนำสำคัญร่วมกับคณะทำงานของศูนย์ประสานงานภาคีพัฒนาอำเภอเมืองมาหนุนเสริม ดำเนินการในลักษณะชุมชนไม่ทอดทิ้งกัน

โดยมีกิจกรรมสำคัญประกอบด้วย

๑.กิจกรรม “ห้องเรียนประจำเดือน” สนับสนุนผู้สูงอายุให้มีกิจกรรมความสัมพันธ์ในกลุ่มของตนดำเนินการกิจกรรมสำคัญได้แก่ การลดขยะเปียกในครัวเรือน นำมาใช้ประโยชน์เพื่อการปลูกผัก การนำวัสดุเหลือใช้มาใช้ประโยชน์ การลดรายจ่ายเสริมรายได้ การดูแลสุขภาพ ฯลฯ การจัดกิจกรรมแต่ละครั้งจะมีผู้สูงอายุจากชุมชนรอบข้างและข้าราชการเกษียณมาร่วม โดยมีเครือข่ายสวนผักคนเมืองหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เทศบาลนครสงขลา องค์การบริหารส่วนจังหวัด ฯลฯ มาร่วมสนับสนุน

๒.ปลูกผักในป่าสน ทำซุ้มตำลึง ใช้ประโยชน์ใบตำลึงยันลูกตำลึง พร้อมๆกับนำขยะเปียก ขยะของเก่ามาทำปุ๋ยหมัก รายได้ส่วนหนึ่งนำมาดูแลสมาชิกที่ยากลำบาก

๓.ศูนย์ผ้าแบ่งปัน ร่วมกับสมาคมอาสาสร้างสุข นำเสื้อผ้ามือสองที่ได้รับการบริจาคมาแบ่งปันส่งต่อให้กับสมาชิกที่ต้องการ ส่วนหนึ่งนำไปจำหน่ายสร้างรายได้

๔.การระดมทุนด้วยการจัดตั้งกองทุนกลาง มีการจัดเลี้ยงน้ำชาร่วมกับเครือข่ายต่างๆในพื้นที่

๕.ร่วมกับศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัด นำผู้เคสที่ผ่านการตรวจสุขภาพพื้นฐานมาร่วมฟื้นฟูโดยกิจกรรมชุมชนบำบัด

๖.ร่วมแก้ปัญหาคนยากลำบากและเปราะบางทางสังคม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สนง.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ สนง.พัฒนาชุมชน เทศบาลนครสงขลา อำเภอเมือง ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนอำเภอเมือง สมาคมอาสาสร้างสุข ฯลฯ ในการแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิ์พื้นฐาน ประสานงานการทำบัตรประชาชน การสร้างอาชีพและรายได้

ปัจจุบันกำลังขยายผลไปยังกลุ่มออมทรัพย์ในตำบลบ่อยางอีก ๘ กลุ่มมาเป็นเครือข่ายการทำงาน

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 4552
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง