ปรับสภาพบ้านให้เหมาะกับคนพิการ ลดคนดูแล-สร้างความปลอดภัยให้ชีวิต

by Little Bear @25 ม.ค. 55 22:29 ( IP : 122...73 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 210x153 pixel , 16,475 bytes.

หลังยกตัวขึ้นนั่งบนอ่างล้างผัก ปราณีใช้สองมือเปิดก๊อกน้ำ นำแตงกวาในถุงออกมาล้างอย่างกระฉับกระเฉง ว่องไว หลังทำเสร็จเธอหันมายิ้มให้ แล้วบอกว่า “พี่ชอบทำกับข้าวมาก แม้ว่าจะพิการเป็นโปลิโอ ต้องนั่งบนวีลแชร์มาตลอดชีวิตก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำกับข้าวของพี่เลย” ปราณี วัฒนาสวัสดิ์ พิการเป็นโปลิโอมาตั้งแต่ยัง เล็กๆ ชีวิตในวัยเด็กไม่ได้เล่นสนุกเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ เวลาไปไหนมาไหนถ้าไม่มีรถเข็นก็ไปไม่ได้ ครั้นจะเข้าห้องน้ำก็แสนยากเย็น เพราะทุกอย่างที่อยู่ภายในบ้านถูกออกแบบมาเพื่อคนส่วนใหญ่ในครอบครัว

“เวลาจะเข้าห้องน้ำต้องใช้มือถัดกับพื้น แล้วยกตัวสูงขึ้นก่อนทำธุระส่วนตัว ซึ่งมันยากลำบากมาก บอกให้พ่อปรับบ้าน พ่อก็ไม่ยอม” ปราณีพูดด้วยน้ำตาคลอ แต่ชีวิตของปราณีเปลี่ยนไปเมื่อได้พบกับ ประณต วัฒนาสวัสดิ์ ชายร่างผอมบาง แต่ในหน้าเต็มไปด้วยความสดใส ประณตประสบอุบัติเหตุถูกไฟฟ้าช็อตจนตกจากเสาไฟฟ้า และนับตั้งแต่นั้นมาก็กลายเป็นคนพิการครึ่งท่อน แต่ด้วยชีวิตที่ไม่สิ้นหวัง ปัจจุบันนี้ประณตยึดอาชีพ ทำงานศิลปะ เพ็นต์งานบนเสื้อ ผ้าใบ รวมไปถึงวาดภาพเหมือน

ประณต พบรักกับปราณีเมื่อ 19 ปีก่อน และยึดบ้านของปราณีเป็นเรือนหอ โดยประณตเป็นผู้ออกแบบบ้านเพื่อให้เขาและภรรยาสามารถช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด โดยเริ่มจากการปรับบ้านที่ไม่เสมอกันเป็นทางลาดพร้อมกับทำราวจับ เพื่อให้วีลแชร์ขึ้นได้ ส่วนห้องน้ำก็ทำที่จับใกล้บริเวณชักโครกเพื่อจะได้พยุงตัวขึ้นนั่งเวลาทำธุระเข้าห้องน้ำ ขณะที่ห้องครัวก็ปรับให้สูงกว่าวีลแชร์เล็กน้อย เพื่อให้สะดวกในการพยุงตัวขึ้นไปนั่งใกล้ๆ อ่างล้างจาน และทำอาหาร ส่วน พื้นบ้านก็ปรับเป็นกระเบื้องโมเสสเพื่อให้รถวีลแชร์เคลื่อนที่ได้ง่าย

บ้านของปราณีถือเป็นบ้านตัวอย่างที่มีการปรับสภาพแล้วในพื้นที่ จ.ลำปางโดยใช้ทุนส่วนตัว ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีบ้านของคนพิการอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการปรับสภาพบ้าน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดโครงการสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อคนพิการและผู้สูงอายุ ผ่านการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ(สสพ.) สมาคมสถาปนิกสยาม ภาคีเครือข่ายสถาบันวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะทำนำล่องปรับบ้าน 77 หลัง ในพื้นที่ 3 ภาค คือเหนือ อีสาน และใต้

โดยภาคเหนือสสพ.จะเข้ามาประสานงานกับทางมูลนิธิพิทักษ์ดวงตาลำปาง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่คอยช่วยเหลือและดูแลคนพิการในชุมชนอยู่แล้ว ให้ออกสำรวจในพื้นที่ว่ามีบ้านหลังไหนที่มีคนพิการหรือผู้สูงอายุที่มีความลำบากในการใช้ชีวิตในบ้าน ต้องการปรับสภาพบ้าน ส่วนทางด้านการให้คำปรึกษาออกแบบเพื่อปรับสภาพบ้านและสิ่งแวดล้อม สสพ.และสมาคมสถาปนิกสยาม ได้ประสานงานกับเครือข่ายสถาบันการศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีล้านนาให้เป็นผู้ลงพื้นที่และออกแบบสร้างบ้านให้กับคนพิการ ซึ่งคาดว่าบ้านที่เข้าร่วมโครงการจะปรับเสร็จในต้นปี 2555

กรรณิการ์ สรวยสุวรรณ ผู้อำนวยการมูลนิธิพิทักษ์ดวงตาลำปาง เล่าว่า การปรับสภาพบ้านให้คนพิการ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในบ้านได้อย่างสะดวกนั้น ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะตั้งแต่เริ่มออกจากบ้านถ้าไม่ทำทางลาดก็เข้าออกไม่ได้ ขณะที่ห้องน้ำ ถ้าทำทางเข้าแคบรถวีลแชร์ก็เข้าไม่ได้ ต้องมีคนมาอุ้ม มาเช็ดให้พึ่งพาคนอื่นอยู่เสมอ แต่หากทำทางเข้าห้องน้ำให้กว้าง และในห้องน้ำมีราวจับให้เขาพยุงตัวได้ เขาก็จะช่วยตัวเองได้ ปรับเคาเตอร์ที่วางเตาไม่ให้สูงเกินไป เพื่อให้เขาทำอาหารได้ คนอื่นก็ไม่ต้องเดือดร้อนมาช่วยทำให้

สาเหตุที่คนพิการจำนวนมากไม่ได้ปรับบ้าน อุปสรรคสำคัญหนึ่งมาจากเรื่องงบประมาณ แม้ว่าในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ในมาตรา 20 จะระบุว่าคนพิการมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ ซึ่งในวงเล็บสิบ [มาตรา 20(10)] ระบุว่าให้มีการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยนั้น แต่ในทางปฏิบัติในปีงบประมาณ 2554 ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ที่จัดงบลงมาให้อบต. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นเข้ามาดูแลเรื่องการปรับสภาพบ้านให้คนพิการนั้น ได้ตั้งงบประมาณให้มีการปรับบ้านคนพิการได้เพียงจังหวัดละ 5 หลัง โดยกระจายทั่วประเทศ ซึ่งในความเป็นจริงยังคงไม่ทั่วถึง อีกทั้งการปรับบ้านก็ไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนพิการ คือกลับไป “ซ่อมแซม” บ้านแทนที่จะ “ปรับสภาพ” บ้าน

เราได้เข้าไปเยี่ยมบ้านของมณฑา เกี๋ยงมูล ซึ่งพิการอัมพาตครึ่งท่องล่างมากว่า 10 ปี เนื่องจากได้รับอุบัติเหตุในขณะที่ไปซื้อวัสดุก่อสร้าง และถูกถุงปูนหล่นลงมาทับจนกระดูกสันหลังหัก ปัจจุบันมีอาชีพประดิษฐ์รถชอบเปอร์ด้วยไม้ ซึ่งเป็นบ้านที่ได้เข้าร่วมโครงการ

“บางครั้งก็หงุดหงิดเพราะไม่สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างเดิม ถ้ามีการปรับสภาพบ้านก็คงดี เพราะที่ผ่านมาป้าก็ทำงานเลี้ยงตัวเองยากลำบาก มีกินก็กินไม่มีก็ไม่ได้กิน ทำรถชอบเปอร์ 2 วัน ได้คันหนึ่ง คันเล็กก็ขาย 150 บาท คันใหญ่ก็ 500 บาท ก็พอเลี้ยงตัวเองไปวันๆ เวลามีคนมาสั่งซื้อก็จะมีกำลังใจมาก” มณฑา ยิ้มพร้อมกับปาดน้ำตา

เมื่อ 2 เดือนก่อนมณฑา จะนอนทำงานประดิษฐ์รถชอบเปอร์ ทั้งเจาะ ทุบ ทากาว ใช้ทินเนอร์พ่นเคลือบเงา ภายในบ้าน ซึ่งเป็นห้องสี่เหลี่ยม มีลมเข้าออกด้านเดียวคือประตูเข้าบ้าน ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพภาพมาก และเมื่อไม่ นานมานี้เธอเพิ่งถูกไฟไหม้บริเวณแขน เนื่องจากทินเนอร์ที่ใช้พ่นรถชอบเปอร์ไปติดไฟโดยบังเอิญ โชคดีที่ร้องให้เพื่อนบ้านมาช่วยไว้ได้ทัน ด้วยเหตุนี้รวิสุต ละออง นักวิชาการภาคสนาม ศูนย์พิทักษ์ดวงตาลำปาง จึงเร่งทำเรื่องไปที่พมจ. ของบประมาณ มาปรับพื้นที่นอกตัวบ้านที่ยังไม่ได้ใช้สอย ปูพื้นกระเบื้องขนาดพอให้มณฑาสามารถนอนเหยียดตัวทำงานได้ ทำให้มีอากาศที่ถ่ายเทได้สะดวกขึ้น

“พอให้ป้ามณฑาออกมาอยู่นอกบ้าน แกก็ดูมีความสุขในการทำงานมากขึ้น แม้ว่าจะได้งบฯจากทางพมจ.มาจริง แต่ก็ปรับบ้านได้เพียงพื้นที่การทำงานเท่านั้น แต่ภายในบ้านของป้ามณฑา ที่เป็นห้องครัว ห้องน้ำ รวมถึงพื้นบ้านให้เป็นกระเบื้อง ก็ยังไม่ได้รับการปรับ ซึ่งก็เป็นโชคดีที่ทางสสพ. สมาคมสถาปนิกสยาม และคณะสถาปัตฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะเข้ามาช่วยปรับบ้านตรงนี้ให้ป้าในเร็วๆ นี้” รวิสุต กล่าว

ด้านพญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ(สสพ.) กล่าวว่า เป้าหมายหลักของโครงการคือ สร้างกลไกเชิงระบบ และกระบวนการเรียนรู้เรื่องการจัดบริการปรับสภาพบ้าน โดยสสพ.จะทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานในพื้นที่นำร่อง ประสานความร่วมมือกับสมาคมสถาปนิกสยามและคณะสถาปัตยกรรมฯของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ มาช่วยออกแบบสร้างบ้านในชุมชน จากนั้นก็ต้องติดตามผลการปรับสภาพบ้านว่า หลังปรับแล้วจะช่วยทำให้ชีวิตคนพิการเปลี่ยนแปลงได้จริง ทำให้คนที่อยู่ในครอบครัวรู้สึกดีขึ้น โดยคาดว่าในจำนวนประมาณ 70 หลังในโครงการนำล่องนี้ จะมีความหลากหลายในรูปแบบการปรับสภาพบ้าน และจะรวบรวมไปเป็นตัวอย่างแม่แบบในการปรับสภาพบ้านในพื้นที่อื่นๆ อย่างในพื้นที่สูง มีเนินเขา ในจังหวัดเชียงราย การปรับสภาพบ้านให้คนพิการในพื้นที่เนินสูงก็จะไม่เหมือนที่ราบ ต้องมีทีมนักวิชาการ ทีมสถาปนิกเข้าไปช่วยในจัดการออกแบบ ถอดออกมาเป็นบทเรียนว่า ในบริบทแบบนี้ จะนำไปสู่การปรับปรุงสภาพบ้านแบบไหน ซึ่งจะได้นำไปเผยแพร่ต่อไป นอกจากนั้น ก็จะได้มีการถอดบทเรียนกลไกการทำงานเพื่อค้นหาความต้องการและการให้บริการในพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ชุมชน หรือแม้แต่ภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้คนที่มีความต้องการสามารถเข้าถึงสิทธินี้ได้จริง และทั่วถึงมากขึ้น

ผอ.สสพ. กล่าวต่อว่า การถอดบทเรียนตรงนี้ออกมาก็เพื่อสร้างเป็นต้นแบบองค์ความรู้เพื่อการดำเนินการต่อไป ดังนั้นเรื่องการขยายบริการการปรับสภาพบ้านออกไป จะไม่ใช่หน้าที่ของสสพ. แต่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐบาล ที่เป็นทั้งรัฐบาลกลาง และรัฐท้องถิ่น โดยอำนาจหลักจะไปอยู่ที่สำนักส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งมีหน่วยงานระดับจังหวัด คือ พมจ. ที่จะเข้ามาทำงานกับชุมชนหรือท้องถิ่นดังกล่าว ซึ่งพมจ.ควรจะมีตั้งผู้รับผิดชอบเฉพาะทำหน้าที่ดูแลบริการปรับบ้านของคนพิการ

การปรับสภาพบ้านไม่ใช่เพียงทำให้คนพิการอยู่อย่างสุขสบาย แต่ยังถือเป็นการจุดประกายให้คนในชุมชน มองเห็นคนพิการว่าสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีศักดิ์ศรี ไม่จำเป็นต้องรอแบมือขอความช่วยเหลือคนอื่น ไปไหนมาไหนได้ และคนพิการสามารถทำงานเลี้ยงตัวเองได้

ทีมสื่อสารสาธารณะสสพ.

เดือนตุลาคม 2554

ที่มา www.healthyability.com

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 0110
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง